การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก้าวทันกระแสการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีของโลก เดินหน้างานวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งแบตเตอรี่ และสถานีอัดประจุไฟฟ้า ลดการใช้น้ำมันและลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งไปในเรื่องของรถยนต์ดัดแปลงฝีมือคนไทย ราคาไม่แพง เข้าถึงง่าย ทั้งยังเป็นการสนองยุทธศาสตร์ชาติ และเป็นการตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดการใช้งานมากขึ้นด้วย
เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) มีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ. จึงได้ทราบความคืบหน้าล่าสุดของภารกิจวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของ กฟผ. ทำให้รู้ว่า กฟผ. อยู่ระหว่างพัฒนาต่อยอดเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่พุ่งเป้าไปที่รถยนต์เก่ายอดนิยม โดยเน้นพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงที่ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ (Local Content) ให้มากที่สุด ทั้งมอเตอร์ (EV Motor) แบตเตอรี่ (EV Battery) คอนโทลเลอร์ (EV Controller) และ ระบบชาร์จ (EV Charger) เพื่อลดการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศ ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงที่มีต้นแบบจาก กฟผ. มีต้นทุนที่แข่งขันได้ มีราคาค่าดัดแปลงที่จับต้องได้และเข้าเข้าถึงได้ง่าย
แม้โครงการวิจัยพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงที่ กฟผ. ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สวทช.) ในช่วงเริ่มต้นค่อนข้างจะขลุกขลักอยู่บ้างในรถรุ่นแรกๆ ที่นำมาดัดแปลง คือ ฮอนด้า แจ๊ส แต่เมื่อเรียนรู้และหาทางแก้ปัญหาเรื่อยมา จนมาถึงการดัดแปลงรถยนต์สองรุ่น คือ นิสสันอเมร่า (อีโคคาร์) และ โตโยต้า อัลติส (รถยนต์โดยสารส่วนบุคคลขนาดกลาง) ก็พบว่า โครงการวิจัยฯ เข้าใกล้ความสำเร็จไปทุกขณะ โดยรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงโตโยต้า อัลติส ที่ทาง สวทช. จะส่งมอบให้ กฟผ. ในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ก็น่าจะตอบโจทย์เป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ วิ่งได้ระยะทางไกลประมาณ 200 กิโลเมตร ต่อการอัดประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง ความเร็วสูงสุดมากกว่า 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แบตเตอรี่มีอายุประมาณ 8-10 ปี ราคาการดัดแปลงไม่รวมแบตเตอรี่ ประมาณไม่เกิน 2 แสนบาทต่อคัน
หลังจากการส่งมอบแล้ว สิ่งที่ กฟผ. จะต้องทำงานต่อ คือการคัดเลือกอู่ซ่อมรถที่มีความพร้อม จำนวน 3 อู่ นำร่องเข้ารับการถ่ายทอดองค์ความรู้วิธีการดัดแปลง โดยที่ กฟผ. จะสนับสนุนชุดอุปกรณ์สำหรับดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า หรือ ชุด EV Kit ต้นแบบ ที่ สวทช. และ กฟผ. ร่วมกันพัฒนาขึ้น เพื่อให้อู่ซ่อมใช้ชุด EV Kit นี้ ดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าตามต้นแบบ และในระยะต่อไป กฟผ. จะช่วยหาโรงงานจ้างผลิต (OEM) EV Kit เพื่อให้ผลิตออกมาขายได้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยให้มีการขยายจำนวนรถดัดแปลงเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญสำหรับรถไฟฟ้า คือ แบตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบันยังมีราคาแพง กฟผ. จึงมองหาแนวทางที่ให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงแบตเตอรี่ในราคาที่ถูกลง โดยอาจจะเป็นการเช่าซื้อ หรือ ให้เช่าใช้ได้ และในอนาคต กฟผ. มีแผนผลิตชุด EV Kit เพื่อจำหน่ายพร้อมแบตเตอรี่ ภายใต้แบรนด์ของ กฟผ. เอง โดยจะดำเนินการภายใต้บริษัทด้านนวัตกรรมที่จะจัดตั้งขึ้นต่อไป
นอกเหนือจากความสำเร็จในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงให้สามารถใช้งานได้แล้ว จุดหมายหนึ่งของความสำเร็จที่ กฟผ. ตั้งไว้คือ เมื่อคนเห็นว่ารถยนต์เก่าใช้น้ำมันสามารถนำมาเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าแล้ววิ่งได้จริง ในราคาไม่แพง ก็จะเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ปัญหาเรื่องไอเสีย ควันดำจากรถเก่า ที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 สร้างมลภาวะเป็นพิษทางอากาศ ก็จะบรรเทาเบาบางลงได้